วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

แนวทางปฏิบัติขั้นพื้นฐานตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

ความสำคัญของสุขบัญญัติแห่งชาติ

การมี "สุขภาพดี" เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (Mervyn Susser, ๑๙๙๓) และเป็นจุดมุ่งหมายทางสังคมที่ยอมรับกันทั่วโลก มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันทาง เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะเศรษฐกิจและสังคม หรือความเชื่อถือทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง ให้มี "สุขภาพดี" อันหมายถึง การมีสภาวะความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งมิใช่เพียงแต่ปราศจากโรคหรือไม่มีความพิการเท่านั้น แต่หมายถึง การมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างดีด้วย (สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน, ๒๕๒๗)


ปัญหาสุขภาพอนามัย เป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมส่วนบุคค ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทยังขาดความรู้ในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและการส่งเสริมสุขภาพ การแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยการขยายบริการของรัฐออกไปให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจกระทำได้แต่ต้องใช้ทรัพยากร
ในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหากลวิธีอย่างอื่นที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือ การปลูกฝังความรู้เรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติให้แก่ประชาชน ตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ นับว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมประการหนึ่ง ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยและได้ผลในระยะยาว


แนวทางปฏิบัติขั้นพื้นฐานตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

๑. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด

(๑) อาบน้ำให้สะอาดทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

(๒) สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

(๓) ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ

(๔) ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน

(๕) ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้อบอุ่นเพียงพอ

(๖) จัดเก็บของใช้ให้เป็นระเบียบ

๒. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง

(๑) ถูฟันหรือบ้วนปากหลังกินอาหาร

(๒) หลีกเลี่ยงการกินลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ เป็นต้น

(๓) ตรวจสุขภาพในช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

(๔) แปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน

(๕) ห้ามใช้ฟันกัด ขบเคี้ยวของแข็ง

๓. ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย

(๑) ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่ายทุกครั้ง

๔. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด

(๑) เลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด ปราศจากสารอันตราย

(๒) กินอาหารที่มีการเตรียม การประกอบอาหาร และใส่ในภาชนะที่สะอาด

(๓) กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

(๔) ไม่กินอาหารที่ใส่สี มีสารอันตราย เช่น สีย้อมผ้า ยากันบูด ผงชูรส

บอแรกซ์ ยาฆ่าแมลง ฟอร์มาลีน เป็นต้น

(๕) กินอาหารให้เป็นเวลา

(๖) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ

(๗) ดื่มน้ำที่สะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เช่น น้ำประปา น้ำต้ม น้ำฝน

น้ำที่ผ่านการกลั่นกรอง น้ำกลั่น น้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างถูกวิธี เป็นต้น

(๘) หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด และของหมักดอง

(๙) หลีกเลี่ยงของกินเล่น

๕. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ

(๑) งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน

(๒) สร้างเสริมค่านิยม รักเดียวใจเดียว รักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม

(มีคู่ครองเมื่อถึงเวลาอันควร)

๖. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
(๑) สมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือกันทำงานบ้าน

(๒) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในครอบครัว

(๓) มีการปรึกษาหารือกับสมาชิกในครอบครัวเมื่อมีปัญหา

(๔) เผื่อแผ่น้ำใจไมตรีให้กับสมาชิกในครอบครัว

(๕) มีกิจกรรมรื่นเริงสังสรรค์และพักผ่อนภายในครอบครัว

๗. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท

(๑) ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้า เตาแก๊ส ของมีคม

จุดธูปเทียนบูชาพระ ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

(๒) ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น ปฏิบัติตาม

กฎแห่งความปลอดภัยจากการจราจรทางบก ทางน้ำ ป้องกันอันตรายจากโรงฝึกงาน

ห้องปฏิบัติการ เขตก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการชุมนุมห้อมล้อมในขณะเกิดอุบัติภัย

๘. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี

(๑) ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

(๒) ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย

(๓) เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายอย่างสนุกสนาน

(๔) ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

๙. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

(๑) พักผ่อนให้เพียงพอ

(๒) เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ ควรหาทางผ่อนคลายโดยการปรึกษาผู้ใกล้ชิด ที่ไว้ใจได้

หรือเข้าหาสิ่งบันเทิงใจ เช่น เล่นกีฬา ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ เป็นต้น

(๓) ทำงานอดิเรกในยามว่าง

(๔) ช่วยเหลือผู้อื่นที่มีปัญหา

๑๐. มีสำนึกต่อส่วนร่วม ร่วมสร้างสรรค์สังคม

(๑) ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

(๒) อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชน ป่า น้ำ สัตว์ป่า เป็นต้น

(๓) ทิ้งขยะในที่รองรับ

(๔) หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

พลาสติก สเปรย์ เป็นต้น

(๕) มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

(๖) มีการกำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือนและโรงเรียนที่ถูกต้อง

ที่มา http://xcold.kucomsci18.in.th/health

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก